วิธีแก้ ปัญหา ความชื้นที่ผนังบ้าน ติดแนวรั้ว เป็นเชื้อรา สีถลอก...

ผนังบ้าน การต่อเติมให้ชิดแนวรั้วหรือบางบ้านใช้แนวรั้วเป็นผนังบ้านไปด้วยเลยนั้น เรามักจะพบเห็นในหมู่ของคนที่ซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ที่มีเนื้อค่อนข้างจำกัด แต่ปัญหาที่ตามก็มักจะเป็นเรื่องของราที่มักขึ้นตามผนังบ้าน วันนี้เราเลยมีวิธีแก้ผนังบ้านเป็นรา จากการสร้างผนังบ้านติดแนวรั้วมาฝากกัน พร้อมเคล็ดลับเลือกรั้วบ้านให้เหมาะสม รวมไปถึงแนะนำข้อดีของการติดรางน้ำฝนป้องกันความชื้นให้ผนังบ้าน

รู้จักกฎหมายควบคุมอาคาร ก่อนสร้างผนังบ้านติดแนวรั้ว

หากจะว่ากันตามหลักกฎหมายควบคุมอาคาร ผนังอาคารที่เป็นลักษณะผนังทึบจะต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ซม. (หรือไม่น้อยกว่า 1 เมตร สำหรับบ้านที่อยู่ในเขต กทม. ที่มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 300 ตร.ม.) แต่หากมีความประสงค์จะสร้างชิดเขตที่ดินต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ฉะนั้นเจ้าของบ้านท่านใดต้องการที่จะต่อเติมก็ควรที่จะเรียนรู้เรื่องกฎหมายและดำเนินการให้ถูกขั้นตอน เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกันในภายหลัง เชื่อเถอะว่าการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องนี้หาข้อสรุปได้ยาก แถมยังเสียทั้งเวลาและเงินไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย

วิธีแก้ ปัญหา ความชื้นที่ผนังบ้าน ติดแนวรั้ว เป็นเชื้อรา สีถลอก

ดูเพิ่มเติม ↓
สีทากันซึม กันเชื้อรา TPI ราคาถูก »

อย่างไรก็ดี การสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้วนอกจากจะได้บริเวณพื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มขึ้นซึ่งนับว่าเป็นของดีที่แต่ละบ้านต้องการ ในทางกลับกันก็มีข้อเสียด้วยก็คือการสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้วมักจะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความชื้นที่ผนัง มีราขึ้น สีถลอก หรือกระเบื้องเกิดการหลุดล่อนไปเสียไม่ได้

สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาสามารถไหลเข้าไปขังในร่องระหว่างผนังกับรั้ว เมื่อเข้าไปสะสมปริมาณเยอะๆก็จะทำให้ผนังบวมขึ้น  ประกอบกับผนังก่ออิฐด้านที่ชิดกับรั้วก็ไม่สามารถที่จะนำปูนมาฉาบปิดกันน้ำได้ และความชื้นจากดินแทรกเข้าไปตามรอยต่อระหว่างพื้นกับผนังจึงส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น

การแก้ปัญหาในเบื้องต้นเจ้าของบ้านควรติดตั้ง Flashing (จะเป็นวัสดุประเภทสังกะสี/เมทัลชีท/สแตนเลส) พับเป็นลักษณะตัวแอล ครอบไปยาวตลอดแนวระหว่างผนังกับรั้ว เพื่อที่จะได้ป้องกันน้ำฝนไม่ให้ไหลซึมเข้าไปในร่อง ในส่วนของผนังที่เกิดความชื้นไปแล้ว ก็ควรรื้อกระเบื้องที่หลุดล่อนหรือลอกสีที่บวมพองออกมาเสียก่อน จากนั้นก็ทำการแก้ไข

โดยมี 2 แนวทางวิธีแก้ไขความชื้น

วิธีแรก : ให้ทาผนังด้วยสีอะคริลิกประเภทที่ไม่มีโมเลกุลของสีหนาแน่นมาก สามารถให้ความชื้นระเหยออกมาสู่ภายนอกได้ (หรือเรียกว่าสีหายใจได้) ทั้งนี้ภายในบ้านก็ต้องมีการระบายอากาศได้ดีควบคู่กันไปด้วย

วิธีสอง : ทาวัสดุกันซึมจำพวกอีพ็อกซีสำหรับทาที่ผนังด้านในโดยเฉพาะ (แต่จะค่อนข้างหาซื้อยาก เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยราย ส่วนใหญ่แล้วจะมีเป็นวัสดุกันซึมประเภทที่ทาด้านโดนความชื้นเสียมากกว่า) หลังจากนั้นค่อยทาสีภายในหรือปูกระเบื้องตกแต่งตามความชอบ

กรณีเพิ่งเริ่มต้นที่จะต่อเติมทำพื้นและผนังใหม่ แนะนำว่าควรหล่อคอนกรีตพื้นและผนังให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายกับการทำบ่อน้ำ โดยผสมน้ำยากันซึมเข้าไปรวมกับเนื้อคอนกรีตด้วย และความสูงของผนังที่หล่อก็ต้องสูงอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมที่ผนังและลดปัญหาความชื้นจากดิน

ส่วนเรื่องความชื้นจากดินที่ขึ้นมาในช่วงช่องว่างระหว่างผนังและรั้วก็จะยังคงมีอยู่ไม่สามารถหาทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหล่อผนังให้ห่างออกจากรั้วอย่างน้อย 10 ซม.เพื่อที่จะได้ยื่นมือหรือลูกกลิ้งไปทาวัสดุกันซึมที่ผนังด้านที่ติดกับรั้วได้  (การทาบริเวณนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความชื้นหรือกันซึมได้ดีกว่าการทาผนังด้านในบ้าน) ส่วนผนังที่เหลือนั้นก็สามารถก่ออิฐตามความสูงที่ต้องการ แล้วด้านบนของผนังให้ครอบปิดช่องว่างด้วย Flashing เพื่อป้องกันฝนอีกชั้นหนึ่ง

หากบ้านรั้วเป็นของบ้านเราเองไม่จำเป็นต้องไปใช้ร่วมกับใคร หรือ กรณีที่เพื่อนบ้านอนุญาตให้ใช้รั้วร่วมกันได้ ก็อาจจะเลือกใช้เป็นวิธีทุบรั้วแล้วก่อผนังทึบขึ้นมาใหม่แทนที่รั้วเดิม แต่อย่าลืมเรื่องผนังจะต้องไม่ล้ำเส้นเข้าไปในเขตที่ดินข้างเคียง ก็จะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างผนังกับรั้วไปได้เช่นกัน

ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่าการสร้างผนังอาคารชิดริมรั้วมักจะต้องเจอปัญหาหลักๆคือ เรื่องน้ำและความชื้น ซึ่งในการป้องกัน-แก้ไขจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะแก้ปัญหาได้ 100% รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ดินส่วนมากแล้วจะเป็นแนวท่อระบายน้ำ การต่อเติมอาคารทับแนวท่อระบายน้ำจะส่งผลให้ฝาท่อเข้ามาอยู่ในบ้าน แน่นอนอยู่แล้วว่าย่อมต้องมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา โดยเฉพาะกรณีในส่วนที่ต่อเติมมีช่องระบายอากาสน้อย

ฉะนั้นหากไม่จำเป็นจริงๆไม่ควรสร้างผนังอาคารชิดแนวรั้ว ควรต้องเว้นอย่างน้อย 50 ซม. หรือ 1 เมตรจากแนวของที่ดิน จะได้ช่วยลดปัญหาเรื่องความชื้นที่บริเวณผนัง ที่สำคัญยังถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย และอย่าลืมไม่ควรก่อผนังทับแนวท่อระบายน้ำใต้ดิน เพราะในอนาคตคุณอาจจะต้องเสี่ยงทั้งเรื่องกลิ่นและโอกาสในการรั้วซึม

สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวการทำผนังทำรั้ว

ผนังเป็นเชื้อราหรือเป็นคราบ สามารถป้องกันได้จากการเลือกรั้วบ้านที่เหมาะสม และการติดรางน้ำฝน เราจึงได้รอบรวมวิธีเลือกรั้วบ้านให้เหมาะสม ช่วยระบายอากาศได้ดี รวมไปถึงแนะนำข้อดีของการติดรางน้ำฝนป้องกันความชื้นให้ผนังบ้าน โดยมีข้อมูลดังนี้

วิธีเลือกรั้วบ้านให้เหมาะสม ช่วยระบายอากาศได้ดี

การเลือกรั้วบ้านที่เหมาะสมนอกจกาความปลอดภัย และคำนึงถึงลักษณะบ้าน สไตล์บ้านแล้ว ยังต้องคำนึงถึงพื้นที่รอบบ้านด้วย ยิ่งมีพื้นที่น้อยยิ่งต้องคำนึงการระบายอากาศเพื่อลดการเกิดเชื้อราบนผนัง โดยวิธีเลือกวัสดุที่ใช้ทำรั้วบ้านที่เราอยากแนะนำดังนี้

รั้วโลหะ

รั้วโลหะเป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ระบายอากาศได้ดี ผลิตจากโลหะต่างๆ เช่น อัลลอย เหล็ก สเตนเลส โดยรั้วอัลลอยมีรูปแบบรายละเอียดของลวดลายค่อนข้างมาก สไตล์ยุโรป ราคาสูง ส่วนรั้วเหล็กมีลักษณะคล้ายกับรั้วอัลลอย แต่เป็นวัสดุที่ดูโปร่งเบา ส่วนรั้วสเตนเลสมีความเรียบง่าย ทนทาน ขึ้นสนิมได้ยาก แต่มีความยากในการทำลวดลายและสีจะได้เพียงสีเนื้อสเตนเลสเท่านั้น จึงมีความมันวาว และดูไม่สวยงามเท่ารั้วอัลลอยหรือเหล็ก

รั้วไม้

การเลือกใช้รั้วไม้ธรรมชาติหรือรั้วไม้เทียมมีผลต่อความรู้สึกของบ้าน การเลือกใช้สีอ่อนและขนาดไม้ที่เล็กจะให้ความรู้สึกอ่อนโยนและโปร่งเบาสบาย รั้วไม้ธรรมชาติมีความสวยงามแต่ต้องระวังการดูแลรักษา ส่วนรั้วไม้เทียมมีความทนทานต่อแดดฝนและปลวก แต่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนัก จึงต้องเลือกไม้เทียมที่มีความหนา 12 มิลลิเมตรขึ้นไป

รั้วต้นไม้

รั้วต้นไม้เหมาะสำหรับคนที่รักธรรมชาติและต้องการบรรยากาศในบ้านร่มรื่นชุ่มชื่น ดูสวยงาม และช่วยป้องกันแสงแดดและฝุ่นละออง แต่ยังทำให้ลมยังพัดผ่านได้ดี ต้องเลือกต้นไม้ที่ใบหนา พุ่มแน่น โตเร็ว เลี้ยงง่าย ทนแดดทนฝน ยื่งตัดยิ่งแตกใบใหม่ออกมา เช่น ไทรคอมแพค ไทรเกาหลี ชาดัด คริสติน่า หนวดปลาหมึก ต้นเข็ม และต้นโมก สามารถติดตั้งได้ง่ายๆด้วยตีนตุ๊กแก และมอร์นิ่งกลอรี่

ข้อดีของการติดรางน้ำฝนป้องกันความชื้นให้ผนังบ้าน

สาเหตุของเชื้อรามักมาจากช่วงเวลาที่ฝนตก เพราะน้ำฝนที่กระเซ็นเข้าผนังจะทำให้เกิดคราบน้ำบนผนัง สีที่ทาบ้านจะบวมลอกล่อนออกมา ทำให้บ้านไม่สวยงาม และอาจเกิดผลเสียหายไปจนถึงโครงสร้างได้ นอกจากนั้น น้ำฝนที่ไหลย้อนกลับเข้ามาบริเวณฝ้าหรือใต้ชายคา ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายกับเพดานของบ้านเช่นกัน ดังนั้นการติดรางน้ำจึงช่วยลดปัญหาได้มาก นอกจากนี้ข้อดีของการติดรางน้ำฝนยังประโยชน์ดังนี้

การไม่ติดตั้งรางน้ำฝนบนหลังคาทำให้น้ำฝนไหลลงมาบนพื้นดินแรง และเกิดแรงตกกระทบมากเมื่อบริเวณนั้นเป็นดินหรือสวน ทำให้เกิดร่องตามแรงน้ำและผนังบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็เสียหายได้เช่นกัน

วงกบประตูหน้าต่างทำจากไม้ทำให้เกิดความชื้นเมื่อต้องสัมผัสน้ำฝนนานๆ จะพองบวมหรือเกิดสนิมทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ จึงควรป้องกันวงกบประตูหน้าต่างจากความชื้น

การติดรางน้ำฝนช่วยป้องกันปัญหาดินทรุดตัวและช่วยระบายน้ำไปยังจุดที่ต้องการปล่อยน้ำลง เพื่อไม่ให้มีปริมาณน้ำขังบนผิวดินและซึมลงไปชั้นล่าง และช่วยรักษาหน้าดินชั้นบนจากการชะล้างของน้ำฝน

การปลูกสร้างบ้านติดกันโดยไม่ติดตั้งรางน้ำฝนอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม ปพพ.ม. 1341 ซึ่งอาจทำให้น้ำฝนกระเด็นไปยังบ้านข้างๆ และสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นควรป้องกันปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านโดยติดตั้งรางน้ำฝนเพื่อให้น้ำฝนไหลลงมาได้อย่างปลอดภัย

บทสรุปส่งท้าย

หากผนังบ้านมีปัญหา เช่น เกิดเชื้อราหรือลอกลายออกจากผนัง เนื่องจากน้ำฝนซึมผ่านมาก็ต้องรีบปฏิบัติตามวิธีการแก้ปัญหาที่เราแนะนำไว้ได้เลย นอกจากนี้ อาจจะต้องพิจารณาเลือกรั้วบ้านที่เหมาะสมเพื่อช่วยระบายอากาศ อีกทั้งยังสามารถติดรางน้ำฝนเพื่อป้องกันการเกิดคราบน้ำบนผนังจากน้ำฝนที่กระเซ็นเข้ามาได้

การค้นหาเพิ่มเติม ↓
สีทากันตะไคร่น้ำ กันเชื้อรา ยี่ห้อไหนดี?

ที่มา: Con Mueangsak | ภาพ: andreypopov

รายละเอียดเพิ่มเติม